น้องเมย์-รัชนก อินทนนท์ 8 ปีกับการเดินทางเข้าสู่ โอลิมปิก สมัยที่ 3

รัชนก อินทนนท์ แบดมินตันโอลิมปิก

คำว่าสาวน้อยมหัศจรรย์ เรามักจะเห็นกันอยู่เสมอเวลาทีมีนักกีฬาอายุน้อยๆแต่ทำผลงานระดับโลกได้ เช่นเดียวกับ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ นักแบดมินตันหญิงเดี่ยวของไทย ที่ได้ไปโอลิมปิกเป็นครั้งแรกตั้งแต่อายุ 17 ปี ซึ่งในปีนั้นถือจุดเริ่มต้นการเดินของสาวน้อยมหัศจรรย์แห่งวงการแบดมินตันไทย เพราะในปีถัดเธอก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์โลก ด้วยแค่วัย 18 ปีเท่านั้น

จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 8 ปีแล้วที่เธอเดินทางในระดับอาชีพแบบเต็มตัว ตอนนี้เธอมีพร้อมทุกอย่าง ทั้งความสามารถ ความแข็งแรง ประสบการณ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พร้อมท้าทายตัวเองเพื่อก้าวขึ้นไปคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ 2020

จุดเริ่มต้นของการเดินทาง

รัชนก เริ่มถูกจับตามองจากการทำสถิติคว้าแชมป์เยาวชนโลกได้ 3 ปีติดต่อกัน เนื่องจากไม่เคยมีนักแบดมินตันหญิงคนไหนเคยทำได้มาก่อน หลังจากนั้นแค่ปีเดียวเธอก็เก็บคะแนนสะสมจนได้ไปโอลิมปิก ในวัย 17 ปี แถมยังเพิ่งขยับขึ้นมาจากเยาวชนได้แบบเต็มตัว แม้จะจบเส้นทางไว้ที่รอบ 8 คนสุดท้าย ซึ่งก็ไม่ใช่แปลกอะไรเพราะในปีนั้น มีนักกีฬาแบดมินตันที่เก่งและพร้อมกว่าเธออยู่เยอะ แม้กระทั่ง ไถ้ ซื่อ หยิง เพื่อนร่วมรุ่น ที่ทุกวันนี้มีอันดับโลกสูงกว่า ยังตกรอบก่อน เมย์ ด้วยซ้ำ

“โอลิมปิกครั้งแรกตอนนั้นอายุแค่ 17 หนูก็ไม่ได้มองว่าตัวเองจะมีโอกาส ตอนนั้นไม่ได้มีการตั้งเป้าในเรื่องของการคว้าเหรียญหรืออะไรเลย ลึกๆแล้วคิดแค่วอยากจะชนะให้ได้มากที่สุด แบบพยายามหาประสบการณ์ แล้วก็เก็บความรู้สึกไว้เยอะๆ ไม่ว่าจะเรื่องความยิ่งใหญ่ของมหกรรม เรื่องของบรรยากาศ เพื่อเอาไว้ใช้ในครั้งต่อไป เมื่อเรามีประสบการณ์มากขึ้น” รัชนก เล่าถึงประสบการณ์สำคัญในโอลิมปิกครั้งแรก

เรียนรู้ความเป็นนักสู้

จะบอกว่าโอลิมปิก 2012 ทำให้ เมย์ โตขึ้นก็ไม่ผิด เพราะหลังจากนั้นปีเดียวเธอคว้าแชมป์โลกมาครอง ในวัย 18 ปี เป็นสถิติแชมป์โลกอายุน้อยที่สุดในตอนนั้น โค่น ลี เสี่ยว เร่ย แชมป์โอลิมปิกที่กำลังท็อปฟอร์มมาก ๆ ลงได้

ปี 2015 เป็นอีกครั้งที่ เมย์ ย้ำแค้น ลี เสี่ยวเร่ย พร้อมคว้าแชมป์เอเชียสมัยแรก และหากนับตั้งแต่ปี 2012-2020 รวมแล้วเธอคว้าแชมป์รายการอาชีพได้ถึง 14 รายการ และเคยขึ้นมือ 1 ของโลกในปี 2016

แต่ว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่เราเห็นกันจนคุ้นชินนั้น เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้รับรู้กันมาก่อน แม้เธอจะไม่ใช่นักมวยแต่เธอก็มีสายเลือดนักสู้ ที่สู้กับอุปสรรคตลอดเวลา

“เวลาที่หนูท้อมันก็มีหลายจังหวะเหมือนกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นรายการใหญ่ที่เรามีโอกาส แต่ดันทำพลาด ไปพลาดตรงนี้ได้ยังไง ทุกอย่างเวลามันเดินไปเรื่อย ๆ เราไม่สามารถกลับไปแก้ผลลัพธ์มันได้ แม้ว่าจะมีโอกาสชนะ แต่ทำไมเราไม่ชนะ หนูว่าสิ่งที่ทำได้ก็คือแก้ไข ณ ปัจจุบันแล้วก็พยายามเก็บความรู้สึกนี้ สิ่งที่เราเคยเป็น ก็เก็บเอาไว้ใช้ในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะต้องเดินทางไปแข่งต่างประเทศอยู่บ่อย จนแถบไม่ได้ใช้เวลาอยู่ในไทย แต่ทุกครั้งที่เธอสู้ เธอก็ไม่ได้สู้เพียงลำพัง ยังมีครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญที่คอยช่วยให้ผ่านทุกเหตุการณ์มาได้

“ถ้าพูดถึงเรื่องของกำลังใจ พ่อแม่ จะเข้าใจสภาพจิตใจเรามากที่สุด เหมือนมันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว มันไม่ได้เกิดแค่ครั้ง หรือ 2 ครั้ง คือมันแข่งเยอะ คือหมายถึงว่ารายการใหญ่ๆที่ไม่ใช่แค่ตัวหนูเองที่คาดหวัง แต่ว่าก็มีทั้งพ่อแม่ แล้วก็คนหลายๆคน อยากให้เราประสบความสำเร็จ เพราะว่าเขาเห็นว่าเราฝึกซ้อม เขาก็อยากจะให้ได้เหมือนที่เราใฝ่ฝันไว้ แต่ว่า ณ ตอนนั้นคือ ก็มีเฟลบ้าง แต่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดมันอยู่ที่ตัวเรา ทุกคนพูดปลอบใจ มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราแบบผ่อนคลาย ณ ความคิดตอนนั้นนะคะ แต่ว่าเราจะกลับมาได้ไหมจะขึ้นมาได้ไหมอันนั้นมันอยู่ที่ตัวเราเอง”

การเดินทางที่มาไกลเกินกว่าความฝัน

เราทุกคนล้วนมีความฝัน ไม่ว่าจะทำอะไรสักอย่าง เพราะความฝันเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจให้เราอยากทำเป้าหมายให้สำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำความฝันให้เป็นจริงได้ รัชนก ก็เช่นกัน แน่นอนว่านักกีฬาย่อมมีความฝัน มีเป้าหมาย แต่เชื่อว่าต่อให้แพ้หรือไม่ถึงเป้าหมายก็คงไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ได้ลงมือทำ ซึ่งการเธอที่นั้นยืนอยู่ในระดับโลกนานนับเกือบ 10 ปี แถมยังคว้าแชมป์ได้มากมาย มันก็เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อสำหรับเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนนี้

“ตอนเด็ก ๆ ก็ไม่ได้มองถึงอนาคตขนาดนั้นค่ะ คิดแค่แบบพรุ่งนี้จะต้องทำอะไรมากกว่า คือเราก็ไม่ได้มีพ่อแม่ที่มีพื้นฐานด้านกีฬา แล้วก็ในหลายๆเรื่อง คือคิดว่าการที่เราได้อยู่แบบนี้มันก็โอเค มีผู้ใหญ่ที่คอยดูแล ไม่ต้องเอาชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร จริง ๆ ก่อนหน้านี้เคยมองไว้ว่าแค่ได้เหรียญก็พอ แต่หนูว่าแบดมินตันมันทำให้เรามีระเบียบ แล้วก็มันเป็นอาชีพที่เราสามารถหารายได้ดีที่สุด ก็เลยมองว่า ไม่ว่าจะโอลิมปิก 2020 จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็คิดแค่ว่าตราบใดที่ยังมีแรง ไม่มีอาการบาดเจ็บ จะพยายามรักษาตัวเองไปเรื่อย ๆค่ะ”

โอลิมปิก 2020 ภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นักแบดมินตันประเภทหญิงเดี่ยว มือท็อป 10 ของโลกนั้นแพ้ชนะกันได้ตลอด ฝีมือสูสีกันมาก ไถ้ ซื่อ หยิง , อากาเนะ ยามากูชิ , แคโรลิน่า มาริน , เฉิน ยู่ เฟย , โนโซมิ โอคูฮาระ รวมไปถึงคนอื่น ๆ ที่ผลักกันขึ้นมา ทำให้โอลิมปิกครั้งนี้จะบททดสอบที่หนักหนาสาหัสเลยทีเดียว

“มันอยู่ที่ฟอร์มการเล่นของเราตอนนั้นด้วยที่เริ่มคงเส้นคงวา แล้วเราก็รักษาระดับการเล่นได้ มีพีคขึ้นไปอีกในระดับหนึ่ง มันก็เลยทำให้เราโดดเด่นกว่านักกีฬาคนอื่นในเรื่องของผลงาน เพราะว่าอันดับโลกดูแค่ 10 รายการที่ดีที่สุด แล้วก็ตอนนั้นเป็นช่วงที่หนูสามารถแบบเล่นได้อย่างที่ต้องการ เวลาที่เราได้เล่นเป็นตัวของตัวเอง มันรู้สึกว่ามัน Relax แล้วเหมือนคิดออก พยายามให้คู่ต่อสู้เล่นตามเกมของเรา”

อย่างไรก็ความเก่งกาจของ รัชนก ก็ไม่ธรรมดาเหมือนกัน รักษาตัวเองยืนอยู่ในระดับท็อปได้มาตลอด นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นเวลากว่า 8 ปี แล้วที่อันดับโลกของเธอยังติดอยู่ 1 ใน 10 ของโลก ไม่เคยหลุด สะท้อนให้เห็นว่าเธอก็พร้อมที่จะเอาชนะทุกคนเช่นกัน

“สำหรับโอลิมปิก 2020 ตอนนี้ก็พยายามที่จะรักษาสภาพร่างกายของตัวเอง รวมถึงเรื่องของสภาพจิตใจที่บางทีมันก็มีผล และต้องทำทุกอย่างให้มันเป็นแบบ100% ต้องพยายามให้มันสมบูรณ์แบบที่สุด แม้ว่าการแข่งขันจะไม่ได้ดั่งใจเราทุกวัน แต่ว่าเราควรทำยังไงให้วันที่มันไม่100% เราต้องแอคทีฟตัวเองให้มันดีขึ้นเอง”

“หนูมีโอกาสที่จะคว้าเหรียญได้ คือในความรู้สึกของตัวเองลึกๆแล้ว แต่ว่าทุกอย่างมันคือขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรหลายๆอย่าง ณ ตอนนั้นด้วยว่าเราจะสามารถโชว์ฟอร์มของตัวเองได้แบบอย่างที่เราตั้งใจไหมแล้วบางทีแบบมันแพ้ ทั้งๆที่แบบยังไม่ได้โชว์ออกมา 100% เลย แต่ว่าเหมือนเราในเรื่องของความคิด พอเราไปบีบในเรื่องของการเล่นอะไรอย่างนี้ มันก็เหมือนทำให้เราเล่นได้ ไม่ 100% อะค่ะ

“ถ้าถามว่าคู่ต่อสู้คนไหนน่ากลัว หนูว่าน่ากลัวทุกคน เพราะทุกคนมีประสบการณ์ มีวุฒิภาวะในเรื่องของการรับมือกับความกดดัน แต่อยู่ที่ตอนถึงจุดพีค ณ ช่วงโอลิมปิก ใครสามารถที่จะคุมตัวเองให้ดีที่สุด เพราะว่าตั้งแต่มือ 1 ถึง 16 ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะได้หมด เราไม่สามารถตอบได้ว่าใครเป็นตัวเต็งอะไรขนาดนั้น แต่ว่าเราเอง ก็ต้องเชื่อมั่นในตัวเองด้วย ว่าเราก็มีโอกาสค่ะ”

บทความจาก https://stadiumth.com/